ด้านระบบประสาทและสมอง

ไมเกรน

         อาการปวดหัว เป็นเรื่องน่าปวดหัวของใครหลาย ๆ คน เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ แถมยิ่งค้นกูเกิลหาคำตอบ ยิ่งเจอแต่คำตอบที่ชวนเครียดกันเข้าไปอีก บทความนี้มีความตั้งใจที่จะให้ข้อมูลด้านต่างๆ พร้อมทั้งแนวทางการรักษาอาการ ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache)

ไมเกรน เกิดจากอะไร?

          “ไมเกรน (Migraine)” เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้น หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ เกิดอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง จากก้านสมองที่ถูกกระตุ้น

อาการไมเกรน เป็นอย่างไร

ปวดหัวไมเกรนมักมีอาการเหล่านี้

  • ปวดหัวตุ๊บ ๆ บริเวณขมับ อาจปวดร้าวมาที่กระบอกตาหรือท้ายทอย และปวดหัวข้างเดียว (บางรายอาจพบว่าปวดหัวทั้งสองข้าง)
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • มีอาการแพ้แสงแพ้เสียง
  • ปวดหัวเป็นครั้งคราว บางครั้งก็สัมพันธ์กับรอบเดือน
  • บางครั้งมีอาการมองเห็นผิดปกตินำ หรือที่เรียกว่า อาการออร่า (migraine aura) ผู้ป่วยจะเห็นเป็นแสงไฟสีขาว ๆ มีขอบหยึกหยัก เป็นอาการเตือนนำมาก่อนที่จะเริ่มมีอาการปวดหัว

ปวดหัวไมเกรน ไม่จำเป็นต้องปวดหัวแค่ข้างเดียว

         มีความเป็นไปได้สูง ว่าอาการปวดหัวข้างเดียว มักเป็นสาเหตุมาจากไมเกรน แต่ก็มีความเข้าใจผิดกันมากว่า ปวดหัวไมเกรน เท่ากับ “ปวดหัวข้างเดียว” เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผู้ป่วยไมเกรนสามารถปวดหัวได้ทั้งสองข้าง หรือปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วค่อยย้ายสลับข้างได้เช่นกัน

         ดังนั้น หากมีอาการปวดหัวทั้งสองข้าง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจว่าตัวเองไม่ได้เป็นไมเกรนแน่นอน ควรพิจารณาจากอาการอื่น ๆ ประกอบด้วย และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์

ปวดหัวไมเกรน ไม่จำเป็นต้องมีอาการรุนแรง

         ร่างกายและจิตใจของแต่ละคนสามารถทนรับกับความเจ็บปวดได้แตกต่างกัน นอกจากนี้อาการปวดหัวไมเกรนยังมีความรุนแรงหลายระดับ คนที่มีอาการนี้ จึงไม่จำเป็นว่าต้องปวดหัวจนกระทั่งทนไม่ไหวเสมอไป

           แม้ว่าจะมีอาการไม่รุนแรง แต่หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นถี่ หรือมีระยะเวลายาวนาน หรือเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน (ตามลิสต์อาการข้างต้น) ก็ควรเข้าพบแพทย์

4 ระยะของอาการปวดหัวไมเกรน

หากแบ่งอาการปวดหัวไมเกรนออกเป็นลำดับการแสดงอาการ จะแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะบอกเหตุล่วงหน้า (Prodrome): มักจะมีอาการบอกเหตุประมาณ 1 – 2 วันก่อนเป็นไมเกรน เช่น ปวดตึงตามต้นคอ หรืออารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
  2. อาการเตือนนำ (Aura): ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นแสงระยิบระยับ เห็นแสงไฟสีขาวมีขอบหยึกหยัก หรือภาพเบลอหรือบิดเบี้ยว แต่บางรายก็ไม่มีอาการเตือนนำ
  3. อาการปวดศีรษะ (Headache): เป็นเหมือนช่วงไคลแม็กซ์ของอาการปวดหัวไมเกรน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวตุ๊บ ๆ หรือปวดหัวข้างเดียว จนไม่สามารทำงานได้ตามปกติ อาจเกิดร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน และจะแพ้ต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เป็นพิเศษ เช่น แสงจ้า เสียงดัง
  4. เข้าสู่ภาวะปกติ (Postdrome): ภายหลังจากที่เริ่มหายปวดแล้ว ผู้ปวยมักจะมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน เกิดอาการสับสน หรือไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ เหมือนระยะที่สาม

นอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ คือ อาการนอนไม่หลับ หลับลำบาก หรือหลับไม่สนิท

โรคนอนไม่หลับมีกี่ชนิด

         โรคนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้ในประชากรทุกช่วงอายุ คนส่วนมากจะมีอาการนอนไม่หลับ 1-2 คืน แต่บางครั้งอาจเกิดขึ้นนานเป็นสัปดาห์ เดือนหรือปี โรคนอนไม่หลับมักพบในผู้หญิงและผู้สูงอายุ

1.  โรคนอนไม่หลับจากปัญหาการปรับตัว (Adjustment Insomnia)

        ปัญหาหลับได้ยากหรือหลับไม่สนิท เป็นเวลาไม่กี่คืน และน้อยกว่า 3 เดือน มักเกิดจากความ ตื่นเต้นหรือความเครียด ยกตัวอย่างในเด็กอาจนอนพลิกตัวในคืนก่อนที่โรงเรียนเปิดเทอม หรือในคืน ก่อนการสอบสำคัญ หรือก่อนการแข่งขันกีฬา ในผู้ใหญ่มักเกิดขึ้นได้ก่อนการพบปะทางธุรกิจนัดสำคัญ หรือการทะเลาะกันของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท คนส่วนมากมักมีปัญหานอนไม่หลับ เมื่อต้องห่างจากบ้าน การเดินทางไปในสถานที่เวลาต่างจากเดิม การออกกำลังกายก่อนเวลาเข้านอน (ภายใน 4 ชั่วโมง) หรือเวลาเจ็บป่วยก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคนอนไม่หลับชนิดนี้ เมื่อสถานการณ์ ความตึงเครียดผ่อนคลาย การนอนหลับก็จะกลับมาเป็นปกติ

2. โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic insomnia)

         หมายถึง การนอนไม่หลับนานมากกว่า 1 เดือน คนที่นอนไม่หลับส่วนมากมักจะกังวลกับ การนอนหลับของตนเอง หรืออาจเพราะการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติในระหว่างนอนหลับ สาเหตุของโรคนอนไม่หลับอาจเป็นอาการของปัญหาอื่น เช่น การมีไข้ หรือ ปวดท้อง หรืออาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน

ปัจจัยทางด้านจิตใจ

  • แนวโน้มที่จะนอนไม่หลับ คนส่วนใหญ่จะนอนไม่หลับในเวลาที่มีความเครียด บางคนมีการตอบสนองต่อความเครียด เช่น มีอาการปวดศีรษะหรือปวดท้อง
  • ความเครียดเรื้อรัง ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ เด็กที่มีความเจ็บป่วยรุนแรง หรืองานที่ได้ผลกำไรน้อย ล้วนก่อให้เกิดปัญหาการนอนหลับ การเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียดจะช่วยรักษาโรคนอนไม่หลับได้
  • โรคนอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary insomnia หรือ Psychophysiological insomnia) ถ้าคุณนอนหลับได้ไม่ดีในช่วงที่คุณมีความเครียด คุณอาจเป็นกังวลว่าจะไม่สามารถทำงาน ในช่วงกลางวันได้ คุณจึงคิดว่าต้องพยายามอย่างมากให้ตัวเองนอนหลับในเวลากลางคืน ซึ่งมันจะยิ่งทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่คืน เมื่อใกล้เวลาเข้านอนคุณจะยิ่งกังวล เกี่ยวกับการนอนมากขึ้น การรักษาจะต้องมีทั้งไม่เรียนรู้ที่จะครุ่นคิดถึงการนอนหลับที่ไม่ดี และเรียนรู้พร้อมปรับลักษณะนิสัยการนอนหลับใหม่

อัลไซเมอร์

            อัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะสมองเสื่อม เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงาน หรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมอง พบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการของโรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ในที่สุด

อาการบ่งชี้ของอัลไซเมอร์

  • ระยะเริ่มแรก      ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืม ในเรื่องที่ไม่น่าจะลืม
  • ระยะกลาง        เมื่อเริ่มเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีความจำจะแย่ลง สูญเสียความทรงจำ โดยเฉพาะความจำที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน บางครั้งเดินออกจากบ้านโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ระยะรุนแรง       ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน ก้าวร้าว ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง เคลื่อนไหวน้อยลง จนคล้ายผู้ป่วยติดเตียง    

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอัลไซเมอร์

  • อายุที่มากขึ้น โดยพบว่าหลังอายุ 65 ปี ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 5 ปีที่อายุมากขึ้น
  • กรรมพันธุ์ มีญาติสายตรงป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์
  • พบว่าโรคอัลไซเมอร์มีส่วนที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด  ดังนั้น การมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ความดันโลหิตสูง นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน 

การดูแล รักษา ผู้ป่วยอัลไซเมอร์

            ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ อยากไรก็ตาม การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ จะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินโรคได้ รวมทั้งช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ทั้งนี้การดูแลรักษาผู้ป่วย อัลไซเมอร์ สามารถทำได้ 2 วิธีหลัก

  1. การรักษาโดยการใช้ยา เพื่อเพิ่ม หรือปรับระดับของสารแอซิติลโคลีนไม่ให้ลดลงมากจนเกินไป ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ
  2. การรักษาโดยไม่ใช้ยา  อาทิ
    • จัดให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้สมองสดชื่นและยืดระยะเวลาการดำเนินโรคได้
    • การทำกายภาพบำบัด เนื่องจากผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มักมีความสามารถทางกายลดลงในหลายๆด้าน เช่น การเคลื่อนไหว การทรงตัว การเดิน รวมถึงอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ดังนั้น จึงควรให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาฟื้นฟูร่างกาย กำลังกล้ามเนื้อ โดยจะเน้น การฝึกการทรงตัว การเคลื่อนไหวต่าง ๆ โดยเฉพาะการเดิน และยังรวมไปถึงการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออีกด้วย
    • หากิจกรรมให้ผู้ป่วยได้ออกไปนอกบ้าน พบปะเพื่อนฝูง
    • ดูแลให้ผู้ป่วยได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพตามสุขลักษณะการนอน จัดห้องให้น่าอยู่ ปรับแสงสว่างให้พอเหมาะ เก็บของมีคม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด

เส้นเลือดในสมองตีบ

           โรคเส้นเลือดในสมองตีบ (Ischemic Stroke) คือ หนึ่งในภาวะของโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการขาดเลือด และออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง จากการสะสมไขมันบริเวณหลอดเลือดสมอง ผนังหลอดเลือดจึงมีความหนาขึ้น ทำให้การไหลเวียนโลหิตไปเลี้ยงสมองเกิดความผิดปกติ เซลล์สมองบริเวณนั้นจึงเกิดความเสียหาย ส่งผลให้อวัยวะในร่างกายบางส่วนไม่สามารถควบคุมได้ เป็นอันตรายถึงขั้นปากเบี้ยว  สูญเสียการมองเห็น และอัมพฤกษ์ อัมพาต ได้

สาเหตุของเส้นเลือดในสมองตีบ

          สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองตีบ มาจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต โดยเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่มีหน้าที่ในการนำเลือดไปเลี้ยงสมอง จากไขมัน หรือคราบหินปูน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

  • โรคหลอดเลือดขาดเลือดจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ (Thrombotic Strokes) เกิดขึ้นได้จากโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการแข็งตัว (Atherosclerosis) การไหลเวียนโลหิตไปยังสมองจึงผิดปกติ
  •  โรคหลอดเลือดขาดเลือดจากการอุดตัน (Embolic Strokes)  เลือดไหลเวียนไปยังสมองได้ไม่เพียงพอ จากการอุดตันของหลอดเลือด

ปัจจัยที่ทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองตีบ

  • ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน     
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • พันธุกรรม
  • ความเสื่อมของหลอดเลือดตามธรรมชาติ
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การสูบบุหรี่

อาการเส้นเลือดในสมองตีบ

ลักษณะอาการของโรคเส้นเลือดในสมองตีบ จะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ในเวลาไม่กี่นาที เกิดขึ้นตามอวัยวะส่วนต่างๆ ดังนี้

  • สายตาพร่ามัว มองไม่เห็น
  • ใบหน้าเบี้ยว
  • สื่อสารด้วยการพูดไม่ได้
  • แขน และขาอ่อนแรง
  • ไม่สามารถทรงตัว หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้

การวินิจฉัยเส้นเลือดในสมองตีบ

            ขั้นแรกแพทย์จะทำการซักประวัติผู้ป่วย เกี่ยวกับระยะในการเกิดอาการของโรค ประวัติความเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว หลังจากนั้นก็จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ได้แก่

  • การตรวจไขมัน และคอเลสเตอรอลในเลือด
  • การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
  • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • การตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Ultrasound)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : EKG)

ลมซัก

1. โรคลมชักคืออะไร?

          โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากกลุ่มอาการชักอันเนื่องมาจาก การที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดทำงานมากเกินปกติไปจากเดิมชั่วขณะ จากไฟฟ้าของการชักเกิดขึ้นและกระจายออกไปในบริเวณส่วนต่างๆของสมอง อาการแสดงที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นกับว่าเป็นส่วนใดของสมองที่ได้รับการกระตุ้นและอาการจะดำเนินอยู่ชั่วครู่

2. โรคลมชักมีสาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง?

  1. ความผิดปกติทางด้านโครงสร้างสมอง สาเหตุจากรอยโรคในสมองได้แก่ แผลเป็นที่ฮิปโปแคมปัส (สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ), เนื้องอกสมอง, เส้นเลือดสมองผิดปกติ, หลังการได้รับบาดเจ็บทางสมอง, การขาดอ็อกซิเจนหลังคลอดจากการคลอดลำบาก
  2. พันธุกรรม ได้แก่ กลุ่มอาการที่เด่นชัดและเริ่มเกิดโรคลมชักตามอายุ, ความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมกับผิวหนัง, เซลล์สมองพัฒนาผิดรูปบางชนิด
  3. สาเหตุจากโรคติดเชื้อ เช่น ไข้สมองอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส, แบคทีเรีย, การติดเชื้อโปรโตซัวหรือพยาธิในสมอง
  4. สาเหตุจากภาวะเมตตาบอลิซึม เช่นภาวะความไม่สมดุลของสารน้ำ, เกลือแร่และน้ำตาล ได้แก่ภาวะระดับเกลือโซเดียมในเลือด และระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปเป็นต้น
  5. สาเหตุจากภูมิคุ้มกัน เป็นสาเหตุที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันของตนเองเช่นโรคไข้สมองอักเสบบางชนิด Rasmussen encephalitis, Limbic encephalitis และโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (SLE) เป็นต้น
  6. ยังไม่ทราบสาเหตุ (Unknown) ได้แก่ โรคลมชักที่ไม่พบรอยโรคในสมอง (Non-lesional epilepsy)

ปัจจุบันแบ่งเป็น 4 แบบใหญ่ๆ

  1. Focal Onset (มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟฟ้าเฉพาะที่)
  2. Generalized Onset (มีจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าทั่วสมอง)
  3. Unknown Onset (ไม่ทราบจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ)
  4. Unclassified (ไม่สามารถระบุชนิดอาการชักได้)

ซึมเศร้า

          โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่มีผู้เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ยังมีผู้รู้จักโรคนี้ไม่มากนัก บางคนเป็นโดยที่ตัวเองไม่ทราบ คิดว่าเป็นเพราะตนเองคิดมากไปเองก็มี ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที

โรคซึมเศร้าคืออะไร

         โรคซึมเศร้า เป็นอาการผิดปกติของอารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม โรคซึมเศร้าเป็นภาวะอารมณ์เศร้าหมองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเฉยชา ไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานในแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดอาการทางจิตได้มากมาย การดำเนินชีวิตตามปกติอาจทำได้อย่างยากลำบากหรือรู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า

          ภาวะซึมเศร้าไม่ใช่ความรู้สึกไม่สบายกายหรือไม่สบายใจที่สามารถสลัดออกไปได้ง่าย ๆ ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและยาวนานซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยถอดใจ การรักษา เช่น การทานยาหรือจิตบำบัด หรือทั้งสองอย่าง สามารถช่วยผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้กลับมามีอาการที่ดีขึ้น

อาการของโรคซึมเศร้า

เมื่อมีอาการซึมเศร้าครั้งหนึ่งแล้ว อาการอาจกำเริบขึ้นได้อีก ภาวะโรคซึมเศร้ามักจะเกิดขึ้นเป็นระลอก อาการที่อาจพบได้เสมอๆ ได้แก่

  • รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า อยากร้องไห้ สิ้นหวัง
  • รู้สึกโกรธ หงุดหงิด รำคาญเรื่องเล็กน้อย
  • หมดความสนใจ หรือรู้สึกไม่สนุกกับกิจกรรมส่วนใหญ่หรือกิจกรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวัน เช่น เพศสัมพันธ์ กีฬา หรืองานอดิเรก
  • ปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนมากเกินไป หรือ นอนไม่หลับ
  • เหนื่อยล้า ไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • ความอยากอาหารลดลง น้ำหนักลด หรือ ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น น้ำหนักขึ้น
  • รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย ประหม่า
  • คิดช้าลง พูดหรือขยับร่างกายช้าลง
  • รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด หมกหมุ่นเรื่องความล้มเหลวที่ผ่านมาแล้วหรือโทษตัวเอง
  • ขาดสมาธิ มีปัญหาเรื่องความจำ หรือไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจเองได้
  • คิดถึงเรื่องความตาย การพยายามฆ่าตัวตายบ่อย ๆ
  • มีอาการป่วยทางกายที่ไม่พบสาเหตุ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีอาการมากจนกระทบชีวิตประจำวัน เช่น การไปโรงเรียน การทำงาน หรือการพบปะสังสรรค์ บางรายอาจรู้สึกเศร้าหมอง ไม่มีความสุขโดยไม่ทราบสาเหตุ

ภาวะซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น

อาการของโรคซึมเศร้าในทุกวัยมักมีอาการคล้าย ๆ กัน แต่อาจมีบางอาการที่ต่างกันไปตามวัย

  • ในวัยเด็ก อาจมีอาการเศร้า รำคาญ เกาะติดพ่อหรือแม่ กังวล น้ำหนักลด ไม่อยากไปโรงเรียน หรือมีอาการเจ็บปวดตามร่างกาย
  • ในวัยรุ่น อาจมีอาการเศร้า รำคาญ หงุดหงิด มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกไร้ค่า มักรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ ขี้ใจน้อย  หมดความสนใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่เข้าสังคม ใช้สารเสพติดหรือดื่มแอลกอฮอล์ นอนหรือทานอาหารมากเกินไป ทำร้ายตัวเอง โดดเรียน หรือการเรียนแย่ลง

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย

ภาวะซึมเศร้าพบได้บ่อยในผู้สูงวัย แต่ไม่ถือเป็นภาวะปกติของคนสูงวัย ภาวะดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงและควรได้รับการรักษาทันท่วงที แต่โดยมากผู้ป่วยมักไม่ยอมเข้ารับการรักษาและวินิจฉัยโรค ในผู้สูงวัยมักมีอาการต่างออกไปหรือไม่ชัดเจน ได้แก่

  • พฤติกรรมเปลี่ยน ความจำถดถอย
  • อาการเจ็บปวดตามร่างกาย
  • เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร มีปัญหาด้านการนอน หมดความสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์ซึ่งไม่สัมพันธ์กับยาหรืออาการอื่น ๆ
  • มีความคิดหรือความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะในเพศชายสูงอายุ

ควรพบแพทย์เมื่อไร

เมื่อรู้สึกว่ามีภาวะซึมเศร้าควรรีบพบแพทย์โดยทันที หรือคุยกับครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจ

วิตกกังวล

           เพราะความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้กับทุกคน และการวิตกกังวลที่ไม่มากจนเกินไปย่อมช่วยให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบ แต่ถ้าวิตกกังวลจนมากเกินไปและเริ่มส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรควิตกกังวล ซึ่งถ้าไม่รีบรักษาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยะยาว

5 โรควิตกกังวลดังต่อไปนี้คือโรคที่ไม่ควรละเลย

1. กังวลทั่วไป Generalized Anxiety Disorder : GAD

          มีความกังวลอย่างมากในเรื่องต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะคลี่คลายไปแล้วก็ตาม ซึ่งมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ประจำวัน เช่น การงาน การเงิน สุขภาพ หรือ ความเป็นอยู่ในครอบครัว ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มักไม่สามารถปรับตัวกับเหตุการณ์เดิม ๆ ที่เกิดขึ้นได้ยังคงคิดถึงเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ ทั้งทางกาย คือ มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ และปวดท้องบ่อย ๆ รวมถึงอาการทางความคิดที่หมกมุ่นกับเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ถึงแม้รู้ตัวว่าเป็นความคิดที่ไม่มีเหตุผลก็ไม่สามารถปล่อยวางความคิดเหล่านั้นไปได้ และมักกังวลถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเสมอ ซึ่งวิธีรับมือที่เหมาะสม คือ การเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฝึกควบคุมกล้ามเนื้อและควบคุมการหายใจ และปรับลดความคิดเชิงลบ เป็นต้น

2. กลัว Phobias

          ความกลัวที่มีมากเกินเหตุ ซึ่งผู้ป่วยเองถึงแม้จะรู้สึกว่าไม่สมเหตุผล และไม่เหมาะสมกับสิ่งที่มากระตุ้น แต่ก็ไม่สามารถหักห้ามความกลัวได้ และพยายามหลีกเลี่ยงไม่เผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว โดยมักมีอาการทางกายร่วมด้วย เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นที่ทำให้กลัว เช่น ใจสั่น หายใจลำบาก เหงื่อออก มือสั่น และเป็นลม ซึ่งเกิดอาหารเหล่านี้ซ้ำ ๆ เป็นเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน โดยความกลัวนั้นอาจเกิดจากการเผชิญกับสัตว์ การบาดเจ็บ กิจกรรม สถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น กลัวที่โล่ง กลัวที่แคบ กลัวเลือด กลัวเข็ม กลัวการพูดต่อหน้าชุมชน กลัวที่สูง กลัวเสียงดัง หรือกลัวสัตว์ เป็นต้น

3. ตื่นตระหนก Panic Disorder

          ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ มีอาการทางกายหลายอย่างพร้อมกัน ได้แก่ ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก วูบจะเป็นลม ปวดมวนท้อง มึนชาทั้งตัว กลัวจะควบคุมตนเองไม่ได้ กลัวว่า จะตายโดยอาจมีหรือไม่มีสิ่งมากระตุ้น มักเกิดขึ้นทันที คาดการณ์ไม่ได้ และยากที่จะควบคุม สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงเป็นพัก ๆ หรือยาวนานเป็นชั่วโมง รวมถึงยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ส่งผลให้เกิดความกลัวและกังวลตลอดเวลาจนทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากนี้โรคนี้อาจนำไปสู่สภาวะต่าง ๆ ได้อีก เช่น โรคซึมเศร้า การติดสารเสพติด ฯลฯ ควรได้รับการรักษาทางจิตเวช คือการรักษาด้วยยาควบคู่กับจิตบำบัด จะทำให้สามารถควบคุมชีวิตได้อย่างปกติ และด้วยการรับมืออย่างเหมาะสม โดยวิธีการดังนี้ให้กำลังใจในทางบวก การผ่อนคลายด้วยการยืดเหยียดร่างกาย การทำศิลปะที่สร้างสรรค์ในการสื่ออารมณ์ความรู้สึก พักผ่อนให้เพียงพอ และลดการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

4. กลัวสังคม Social Anxiety Disorder

          ความกลัวต่อการต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าอาจถูกจ้องมอง หรือ ทำอะไรที่น่าอับอายต่อหน้าบุคคลอื่น พยายามที่จะหลบเลี่ยงหรือต้องอดทนมากต่อความกลัวนั้นจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และทำให้มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม พบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และอาจพบอาการในญาติพี่น้องของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปด้วย โดยเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การเลี้ยงดูแบบประคบประหงม การขาดทักษะการเข้าสังคม หรือโดนทำร้ายร่างกาย อาการที่ปรากฏคือ หน้าแดง เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก ปวดศีรษะ และอาการสั่นเทา เป็นต้น

5. กลัวการแยกจาก Separation Anxiety Disorder

        ความกลัวต่อการแยกจากบ้าน สถานที่คุ้นเคย หรือคนใกล้ชิดมากเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามระดับการพัฒนาจิตใจ ซึ่งความกลัวหรือความกังวลนั้น มักจะเกี่ยวกับความสูญเสียหรือความเจ็บป่วยของคนสำคัญ เหตุการณ์ที่อาจทำให้เกิดการพลัดพราก เช่น หลงทาง ถูกลักพาตัว หรือเกิดอุบัติเหตุ ผู้ป่วยจะมีการลังเลหรือปฏิเสธการออกจากบ้านไปโรงเรียนหรือไปทำงาน กลัวมากหรือลังเลที่จะต้องอยู่คนเดียว หรือฝันร้ายเกี่ยวกับเรื่องการพลัดพรากบ่อย ๆ ซึ่งอาการของโรคมักเกิดยาวนานต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ในเด็ก และ 6 เดือนในผู้ใหญ่ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ประจำวัน

      “อาจดูเหมือนโรคนี้น่ากลัว แต่คุณป้องกันได้ ง่ายๆ แค่ใช้ชีวิตอย่างมีสุข กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย นอกจากนี้ควรฝึกสติเพื่อรู้ทันอารมณ์ของตัวเองว่ามีความเครียดมากเกินไปหรือไม่ รวมถึงการทำสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบอยู่กับปัจจุบันและให้สมองได้ผ่อนคลาย รับรองสุขภาพดีทั้งกายใจห่างไกลโรคอย่างแน่นอน”